สร้างบ้านให้ประหยัดพลังงาน-ทุ่นค่าใช้จ่ายระยะยาว

บ้านพักอาศัยหลายหลังมักถูกสร้างโดยลืมนึกถึงสภาพภูมิอากาศที่บ้านตั้งอยู่ หรือใช้วัสดุไม่เหมาะสม รวมถึงการอยู่อาศัยอย่างไม่สอดคล้องกับเมืองร้อน ทำให้ต้องมาแก้ไขภายหลังสร้างเสร็จโดยการใช้เครื่องปรับอากาศภาพในบ้าน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน และทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ทั้งๆ สามารถลดใช้พลังงานในบ้านพักอาศัยแต่แรกที่เริ่มเลือกปลูกสร้าง รวมถึงรู้จักปรับวิถีชีวิต พฤติกรรม และบ้านเรือนให้สามารถอยู่อาศัยได้สบาย โดยมีการใช้พลังงานน้อยที่สุด หรือหากต้องใช้พลังงาน ก็ใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ลองดูกันว่า “สร้างบ้านให้ประหยัดพลังงาน” ต้องเลือกพิจารณาอย่างไร

1. หันบ้านให้ถูกทาง

บ้านที่อยู่อาศัยแล้วสุขสบาย ควรเป็นบ้าน “อยู่เย็นเป็นสุข“ “ร่มรื่น ร่มเย็น“ “โล่ง โปร่ง สบาย” ดังนั้น สภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านมีส่วนช่วยทำให้บ้านเย็นสบาย เช่น มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีแหล่งน้ำที่ให้ความเย็น ไม่มีอาคารกีดขวางทางลม ฯลฯ

การวางตำแหน่งบ้านที่ดีจะทำให้ภายในบ้าน ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติมากที่สุด ดวงอาทิตย์อ้อมใต้ ความร้อนที่เกิดในบ้านส่วนใหญ่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วเคลื่อนตัวอ้อมไปทางทิศใต้จนไป ตกทางด้านทิศตะวันตก ดังนั้น การวางตำแหน่งของบ้าน อาจใช้หลัก “เปิดรับแสงด้านเหนือ” และ “กันแดดด้านตะวันตกและใต้” เท่านี้ก็พอจะสู้รบกับความร้อนได้อย่างดี และประหยัดพลังงานทีเดียว

ดูทิศทางลมเหนือและลมใต้ ลมที่พัดผ่านประเทศเรามี 2 ชนิด คือ ลมมรสุมฤดูร้อน ที่พัดมาจากทางทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมฤดูหนาว ที่พัดมาจากทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การจัดวางบ้าน ควรจะจัดให้มีช่องเปิดที่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ทั้ง 2 ด้าน

2. กางร่มให้บ้าน

ต้นไม้สุดยอดร่มเงา การปลูกต้นไม้บริเวณรอบๆบ้าน นอกจากความร่มรื่นความสดชื่น อากาศบริสุทธิ์ที่ได้รับจากต้นไม้แล้ว ต้นไม้ยังดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบๆ ไปทำให้น้ำที่รากดูดขึ้นมาจากใต้ดิน ระเหยเป็นไอน้ำผ่านออกทางปากใบ ทำให้อากาศรอบๆต้นไม้เย็นลง
ติดกันสาดให้บ้าน การติดตั้งกันสาด หรือแผงกันแดด เป็นการป้องกันความร้อนและแสงแดด ไม่ให้ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา เป็นความร้อนสะสมอยู่ในบ้าน กันสาดหรือแผงกันแดดที่ดีนั้น ต้องกันแสงแดด ไม่ให้ส่องผ่านเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด แต่อย่าให้มากไปจนทำให้บ้านมืด

3. อย่าใส่แหล่งความร้อน

การที่ลานรอบบ้านเป็นลานคอนกรีตนั้นจะเป็นตัวดูดความร้อนโดยเฉพาะที่อยู่ด้านทิศใต้หรือทิศตะวันตก เมื่อมีลมพัดมาก็จะนำความร้อนและฝุ่นจากพื้นคอนกรีตนี้มาด้วย ดังนั้น จึงควรจัดให้บ้านมีพื้นที่แบบนี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ปูฉนวนให้พื้นดิน การปลูกหญ้าหรือไม้คลุมดินรอบๆบ้าน นอกจากเป็น “การปูฉนวนกันความร้อน” ให้กับพื้นดิน ยังเสมือน “ ตัวป้องกันฝุ่น” และยังให้ความร่มรื่นสบายตา ลดการสะท้อนของแสงอีกด้วย

4. ยอมให้ลมพัดผ่าน

ทุกครั้งที่มีลมพัดผ่านตัวเราเราจะรู้สึกเย็นสบาย ถ้าบ้านเรามีลม (เย็น)พัดผ่านเข้าบ้าน บ้านเราอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดก็เพียงเล็กน้อย
ดังนั้น การวางบ้านหรือช่องหน้าต่างที่เหมาะสมกับทิศ บ้านก็มีโอกาสที่จะรับลมได้ มีทางให้ลมเข้า ต้องมีทางให้ลมออก การให้แต่ละห้องมีหน้าต่างอยู่ด้านตรงข้ามกัน จะทำให้อากาศถ่ายเทในห้องได้มาก รวมถึงอย่าวางเฟอร์นิเจอร์ขวาง หรือบังทางลมเข้าออกด้วย

5. เปิดบ้านรับแสงธรรมชาติที่ดี

การที่แต่ละห้องมีช่องแสงหรือหน้าต่างให้แสงธรรมชาติส่องสว่างเข้ามาในห้องได้นั้น ประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุดคือ ไม่เสียสตางค์ค่าไฟฟ้าเพื่อที่จะเปิดโคมไฟ ในเวลากลางวัน
การรับแสงธรรมชาติเข้าบ้านที่ดีนั้นควรอยู่ในทิศทางที่ไม่มีแสงแดดเข้ามา การที่มีช่องแสงหรือหน้าต่างทางทิศเหนือนั้น จะรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ดีที่สุด หรือทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือที่ช่วงบ่ายจะไม่โดนแดด ก็จัดว่าได้รับแสงธรรมชาติที่ดีเช่นกัน

6. ปรับที่ และปรับตัว

เชื่อว่าที่บ้านของทุกคนนั้นจะมีบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ว่าในหรือนอกบ้านที่ค่อนข้างจะเย็นสบาย ที่สุดในแต่ละเวลา เช่น มีร่มเงาลมพัดผ่านอยู่เสมอ เมื่อรู้แล้วว่าเป็นบริเวณใด ลองปรับการใช้สอยของตัวเรา เช่น จัดบริเวณนั้นให้เป็นที่ตั้งโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งเล่น พักผ่อน เท่านี้ก็เป็นการ “เคลื่อนตัวเราหาลมและแสงธรรมชาติ” อย่างง่าย

รวมถึงการใส่เสื้อผ้าให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และมีการปรับตัวโดยสวมใส่เสื้อผ้า เบา บาง ในหน้าร้อนให้ร่างกายสบาย เพื่อที่จะไม่ต้องตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้ต่ำมาก